ขนาดกระดาษสำหรับงานพิมพ์

 

ความรู้ในการเลือกใช้กระดาษ

เรื่องราวน่ารู้ของกระดาษในการพิมพ์

     ทุกวันนี้ กระดาษมาตรฐานขนาด A4 เป็นขนาดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งขนาด A นั้นเป็นขนาดมาตรฐานของ ISO ในระบบมาตรฐาน ISO นั้น ขนาดกระดาษที่เรียกว่าได้มาตรฐาน จะมีอัตราส่วน ด้านยาว : ด้านกว้าง เป็น 1 : 1.4142 หรือ 1 ต่อ square-root 2 ด้วยอัตราส่วนนี้ จะทำให้การคำนวณขนาดกระดาษ size ต่างๆ เป็นไปได้ด้วยความสะดวก เพราะว่าถ้านำกระดาษที่มีอัตราส่วนนี้สองแผ่นมาวางต่อกันในด้านยาวแล้ว ก็จะได้กระดาษแผ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงอัตราส่วนเดิมอยู่คือ 1 ต่อ 1.4142

ความแตกต่างระหว่างชนิด A,B,C

ขนาดกระดาษตามมาตรฐาน ISO/ DIN ในขนาด มิลลิเมตร และ นิ้ว

แบบกระดาษชนิด Aแบบกระดาษชนิด Bแบบกระดาษชนิด C
ขนาด มิลลิเมตร นิ้ว มิลลิเมตร นิ้ว มิลลิเมตร นิ้ว
0 841 × 1189 33.1 × 46.8 1000 × 1414 39.4 × 55.7 917 × 1297 36.1 × 51.1
1 594 × 841 23.4 × 33.1 707 × 1000 27.8 × 39.4 648 × 917 25.5 × 36.1
2 420 × 594 16.5 × 23.4 500 × 707 19.7 × 27.8 458 × 648 18.0 × 25.5
3 297 × 420 11.7 × 16.5 353 × 500 13.9 × 19.7 324 × 458 12.8 × 18.0
4 210 × 297 8.3 × 11.7 250 × 353 9.8 × 13.9 229 × 324 9.0 × 12.8
5 148 × 210 5.8 × 8.3 176 × 250 6.9 × 9.8 162 × 229 6.4 × 9.0
6 105 × 148 4.1 × 5.8 125 × 176 4.9 × 6.9 114 × 162 4.5 × 6.4
7 74 × 105 2.9 × 4.1 88 × 125 3.5 × 4.9 81 × 114 3.2 × 4.5
8 52 × 74 2.0 × 2.9 62 × 88 2.4 × 3.5 57 × 81 2.2 × 3.2
9 37 × 52 1.5 × 2.0 44 × 62 1.7 × 2.4 40 × 57 1.6 × 2.2
10 26 × 37 1.0 × 1.5 31 × 44 1.2 × 1.7 28 × 40 1.1 × 1.6

 

     แกรมคืออะไร

     เมื่อพูดถึงกระดาษ 70 แกรม หรือ 60 แกรม คงพอจะรู้กันว่ากระดาษที่มีจำนวนแกรมมากกว่า คือกระดาษที่มีขนาดหนากว่ากันอยู่แล้ว แต่เคยสงสัยกันไหมว่า "แกรม" ที่ว่านี้คืออะไร แล้ววัดกันยังไง คำว่า "แกรม" นั้นก็คือ "กรัม (gram)" นั่นเอง เป็นหน่วยที่ใช้วัดมวลของกระดาษว่าเมื่อนำกระดาษชนิดหนึ่งๆ ที่มีพื้นที่ 1 x 1 ตารางเมตร มาชั่งแล้ว จะมีน้ำหนักกี่กรัม (แกรม) ฉะนั้น กระดาษขนาด 120 แกรม จึงหมายถึง กระดาษที่มีน้ำหนัก 120 กรัม / ตารางเมตร 

     ในกระบวนการทางการพิมพ์แล้วนั้น กระดาษที่มีจำนวนแกรมน้อยหรือบางกว่า จะทำให้แสงส่องผ่านได้มากกว่า เมื่อทำการพิมพ์ไปแล้วจึงมีโอกาสเป็นไปได้มากที่จะมองเห็นทะลุไปยังอีกด้านของกระดาษ ทำให้ดูแล้วไม่สวยงามซ้ำยังรบกวนการอ่านอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้อง balance เรื่องของความหนาให้เหมาะสมกับจำนวนหน้า และประเภทของงานที่พิมพ์ให้ดีด้วยเช่นกัน

     อย่างหนังสือที่หนามากไม่ควรจะใช้กระดาษที่หนาเกินไป เพราะจะทำให้หนัก หนาและไม่น่าอ่าน อีกทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อราคาต้นทุนอีกด้วยด้วย ส่วนหนังสือที่มีจำนวนหน้าน้อย การใช้กระดาษที่หนาขึ้นมาเล็กน้อย อาจจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นบ้าง แต่ก็จะทำให้หนังสือดูไม่บางจนเกินไป มองแล้วสวยงามมีมิติ แกรมที่เหมาะสมสำหรับพิมพ์เนื้อหาด้านในหนังสือคือ 70 – 80 แกรม ส่วนการพิมพ์หน้าปกนั้นต่างจากการพิมพ์เนื้อหาด้านในอยู่ เพราะปกเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มไส้ในเอาไว้ จึงจำเป็นจะต้องแข็งแรง และปกป้องอายุของหนังสือไว้ได้นานระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นสิ่งแรกสุดที่ผู้อ่านเมื่อได้เห็นหน้าปกที่สวยงามแล้ว จะถูกดึงดูดสายตาเป็นพิเศษ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กระดาษนั้นต้องมีความหนาที่พอดี สวยงาม และเหมาะสมแก่การพิมพ์ ทางโรงพิมพ์แนะนำให้ใช้เป็นกระดาษ 120 แกรมขึ้นไปสำหรับการพิมพ์ปก

     จำนวนแกรมที่นิยมใช้ในงานต่างๆ

ใบเสร็จ สิ่งพิมพ์ที่ต้องมีสำเนาในตัว หรือหน้าในของ dictionary

40 – 60 แกรม

กระดาษหัวจดหมาย หน้าเนื้อในของหนังสือ นิตยสาร เนื้อในของสมุด

70 – 80 แกรม

โบรชัวร์สี่สี หน้าสี่สีของนิตยสาร โปสเตอร์

120 – 160 แกรม

ปกหนังสือ นิตยสาร สมุด แฟ้มนำเสนองาน กล่องสินค้า

210 – 300 แกรม

     ชนิดของกระดาษ

     ชนิดของกระดาษเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แปรผันตรงกับต้นทุนการพิมพ์ กระดาษที่ดีมีคุณภาพสูงจะให้งานที่ออกมาดูดี สวยงามและคงทน แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย เหมาะกับงานที่ต้องการความประณีตสูง เก็บไว้ใช้งานได้นาน กระดาษคุณภาพรองลงมาอาจจะใช้สำหรับงานที่ไม่ต้องการความสวยงามมากนัก หรือไม่ต้องการเก็บไว้นาน เช่น ใบปลิว หนังสือพิมพ์ ฯลฯ

    กระดาษปอนด์

      กระดาษปอนด์จะนิยมใช้ในงานหนังสือโดยเฉพาะเนื้อใน เหมาะสำหรับงานที่ผู้ผลิตมีงบประมาณจำกัด (กระดาษอาร์ตมีราคาแพงกว่ามาก) และต้องการผลิตหนังสือในราคาที่ไม่แพง เนื้อกระดาษมีคุณสมบัติรองรับน้ำหนักได้ในระดับปานกลางตามความหนา ในกระดาษที่ต่ำกว่า 80 ปอนด์ หากใช้สีจำนวนมาก หมึกจะซึมทะลุด้านหลังได้ ดังนั้นถ้าหากมีรูปภาพประกอบควรใช้กระดาษปอนด์ 80 ขึ้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายของเนื้องาน

     กระดาษถนอมสายตา (GREEN READ)

     เป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นสำหรับงานหนังสือโดยเฉพาะ เนื้อกระดาษเป็นสีเหลืองนวลช่วยลดแสงสะท้อนสู่ดวงตา ทำให้อ่านหนังสือได้สบายสายตามากขึ้น กระดาษถนอมสายตาพื้นผิวกระดาษไม่เนียนนัก ทึบแสง มีความฟู และมีน้ำหนักเบา เมื่อนำมาทำเป็นเล่มตัวของหนังสือจะมีความหนา ดูคุ้มค่า คุณสมบัติของเนื้อกระดาษ รองรับสีได้ดี เมื่อพิมพ์ภาพลงไปแล้วสีจะดูสดใสนวลตา
     มีราคาแพงกว่ากระดาษปอนด์ไม่มากเกินไป เหมาะกับการใช้พิมพ์งานหนังสือที่มีเนื้อหามาก เช่น หนังสือประเภทวรรณกรรม

     กระดาษปรู๊ฟ

     กระดาษปรู๊ฟเป็นกระดาษที่มีราคาถูก เนื้อกระดาษบาง มีสีเหลืองอ่อนๆ เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เน้นจำนวนการผลิตที่มาก เช่น หนังสือพิมพ์รายวันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะคุณสมบัติของกระดาษตรงกับลักษณะการใช้งาน

     กระดาษคาร์บอนเลส

     เป็นกระดาษที่มีการเคลือบเคมี เมื่อเขียนด้านบนแล้วข้อความก็จะติดไปในกระดาษแผ่นล่างด้วย เพื่อทำเป็นสำเนา กระดาษชนิดนี้เหมาะกับการทำเป็นใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารด้านการเงินขององค์กรที่ต้องการสำเนาหลักฐาน

     กระดาษกล่อง และกระดาษลูกฟูก

     กระดาษสองชนิดนี้เป็นกระดาษที่นำมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้ เนื้อกระดาษมีความแข็งแรงตามชนิดของกระดาษ เนื้อกระดาษปกติมีอยู่สองสี คือ กระดาษหน้าขาวจะพิมพ์ได้สวยงามชัดเจน ทำให้สินค้าดูมีมูลค่ามากขึ้น แต่ถ้าเป็นกระดาษสีน้ำตาลก็มักจะใช้กับสินค้าบางประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้

     กระดาษอาร์ต

     กระดาษชนิดนี้เนื้อจะแน่น ผิวเรียบ เหมาะสำหรับงานพิมพ์สี่สี เช่น โปสเตอร์ โปสการ์ด โบรชัวร์ ปกวารสาร ฯลฯ กระดาษชนิดนี้ราคาค่อนข้างสูง คุณภาพกระดาษแตกต่างกันไปแล้วแต่มาตรฐานของผู้ผลิต มีให้เลือกหลายแบบ ได้แก่

  • กระดาษอาร์ตมัน
    กระดาษเนื้อเรียบ เป็นมันเงา พิมพ์งานได้ใกล้เคียงกับสีจริง สามารถเคลือบเงาได้ดี ความหนาของกระดาษมีดังนี้ 85 แกรม , 90 แกรม , 100 แกรม , 105 แกรม , 120 แกรม , 130 แกรม , 140 แกรม , 160 แกรม
  • กระดาษอาร์ตมันด้าน
    กระดาษเนื้อเรียบ แต่เนื้อไม่มัน พิมพ์งานสีจะซีดลงเล็กน้อย แต่ดูหรู ความหนาของกระดาษมีดังนี้ 85 แกรม , 90 แกรม , 100 แกรม , 105 แกรม , 120 แกรม , 130 แกรม , 140 แกรม , 160 แกรม
  • กระดาษอาร์ตการ์ด 2 หน้า
    เป็นกระดาษอาร์ตที่มีขนาดหนาตั้งแต่ 100 แกรม ขึ้นไปเหมาะสำหรับพิมพ์งาน โปสเตอร์ โปสการ์ด ปกหนังสือ หรืองานต่างๆ ที่ต้องการความหนาของกระดาษ
  • กระดาษอาร์ตการ์ด 1 หน้า
    เป็นกระดาษอาร์ตที่มีความแข็งแรงกว่ากระดาษอาร์ตการ์ด 2 หน้า หนาตั้งแต่ 190 แกรมขึ้นไป เหมาะสำหรับพิมพ์งานที่ต้องการพิมพ์แค่หน้าเดียว เช่น กล่องบรรจุสินค้าต่างๆ โปสเตอร์ โปสการ์ด ปกหนังสือ เป็นต้น

 

 

 

 

มีการจัดส่งขนส่งเอกชนที่มาตรฐาน

                                   

Visitors: 528,069